Jump to content

User:The great emperror/sandbox-BuddhaCh.3

From Wikipedia, the free encyclopedia
"ทรงประสูติกาล"
Single by เพลิน พรหมแดน
from the album พระพุทธประวัติ
Released2013 (2013)
Length11.11
Songwriter(s)สมส่วน พรหมสว่าง
เพลิน พรหมแดน singles chronology
"สู่ครรภ์พระมารดา"
(2013)
"ทรงประสูติกาล"
(2013)
"ความอัศจรรย์วันประสูติ"
(2013)

ทรงประสูติกาล เป็นเพลงลำดับที่สามของเพลงพระพุทธประวัติ ประพันธ์เนื้อเพลง/ เรียบเรียงโดย สมส่วน พรหมสว่าง ขับร้องโดย เพลิน พรหมแดน เพลงนี้มีเนื้อหากล่าวถึงการให้กำเนิดพระโอรสของพระนางสิริมหามายา โดยกล่าวเริ่มต้นจากการเสด็จนิวัติกลับสู่กรุงเทวทหะ และจบเพลงด้วยเหตุการการเสด็จนิวัติกลับสู่กรุงกบิลพัสดุ์ของพระนางสิริมหามายา เพลงนี้มีความยาว 11 นาที 11 วินาที

เนื้อเพลง

[edit]
  • พระโพธิสัตว์ทรงอยู่ในครรภ์

พระมารดานั่น อยากจะเห็นเมื่อใด

ทรงสามารถเห็นได้

เหมือนมองเส้นไหม ในแก้วอันใสผ่อง

พระกุมารทรงสมาธิบัลลังก์

วิปัชนาการดังอยู่บนเตียงทอง

ทั้งพระเทวี สดศรี ไม่มีพร่อง

ดังพระกุมาร มิท่องในห้องอุทร


พระนางเจ้าทรงสมาทาน

อธิษฐาน เบญจศีล มิเคลื่อนคลอน

มิพระทัยไกลจากนิวรณ์

ราคะ กำหนัดตัดตอน ทุกเพศ บุรุษ และวัย

ท้าวจาตุมหาราชา ทรงลงมาอภิบาลไท้

กษัตริย์ทั้งแดน ชมพูทวีปยังได้

ส่งบรรณาการถวาย ด้วยใจปรีดา


พระครรภ์ได้ 10 เดือนแล้ว

พระเทวีแก้ว ผ่องแผ้วในอุรา

ทรงมีพระทัยปรารถนา เสด็จคืนเคหา เทวทหะนคร

เป็นประเพณีนิยม หญิงทุกสังคม ต้องกลับคืนย้อน

ยังถิ่นฐานบ้านเดิมก่อน

เมื่อตั้งอุทร ก่อนจะคลอดบุตรออกมา


จึงเข้ากราบทูลขอพระ

ราชานุญาตจากพระภัสดา

ครั้นทรงอนุมัติ แล้วทูลลา

เสด็จโดยมรรคา มาด้วยพระวอทอง

เช้าวันวิสาขปุรณมี เป็นวิถีเดือนหกงามพ้อง

เสนามาตย์ ราชบริวารต้อง

ติดตามเสด็จ ดาษดื่นตื่นตา


ถึงลุมพินีสถาน แดนเขตกั้น หว่างสองนครา

กบิลพัสดุ์ เทวทหะพารา

พระนางเจ้าปรารถนา ประพาสในป่านั้น

เสด็จลงจากสุวรรณศรีวิกา ดำเนินเข้าสู่ป่ารังนั้น

พร้อมทั้งพี่เลี้ยง นารีราชบริพาร

ถึงร่มไม้อัน สาละวันชื่นเย็น


  • พระนางเจ้า นึกอยากเนี่ยวกิ่งไม้รัง

กิ่งสาละสล้าง ก็โน้มมาเหมือนประเคน

พอจับกิ่งก็เกิดลมกัมมัชวาต

พระโพธิสัตว์ ใกล้ประสูติตามเกณฑ์

พนักงาน ก็ผูกม่านแวดล้อม

พระพี่เลี้ยงก็พร้อม ถวายงานทุกประเด็น

พระนางทรงพัสตราภรณ์ผ้าโกศัย

อันขจิตวิไล ด้วยทองงามระเนน

ทรงผ้าอย่างดี คลุมพระสรีระ

จนจรดหลังพระบาทยืนไม่โอนเอน

พระหัตถ์ขวา จับซึ่งกิ่งไม้รัง

พระปฤษฎางค์ พิงต้นไม้ที่เห็น

ครั้นใกล้เที่ยงมงคลมหา

ฤกษ์ดีมีมา ไม่มีเบี่ยงเบน

พระนางเจ้าสิริมหามายา

ประสูติโอรสออกมา ไม่มีลำเค็ญ

ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 วันเพ็ญ

วิสาขฤกษ์ดังเช่น วิสัชนา


  • พระโพธิสัตว์ ประสูติจากพระครรภ์

นั้นยังมิทัน จะถึงพื้นพสุธา

ท้าวสุทธาวาส มหาพรหมทั้งสี่ก็มา

เอาตาข่ายทอง รองรับพระกายา

ไร้มลทินใด มาต้องให้หมององค์


ขณะนั้น ท่ออุทกธารา

หลั่งไหลลงมา จากอากาศโสรจสรง

ทั้งเย็นทั้งอุ่น ชุ่มนองทั้งสองพระองค์

เสียงซาด...ซู่ หลั่งริน พระชินพงศ์

สราญ ยรรยง ยิ่งยอดน่านิยม


จากนั้น ท้าวจาตุโลกบาล

รับพระกุมาร จากหัตถ์มหาพรหม

ด้วยอชินจัมชาติ ดาษอุดม

แล้วจึงได้ ส่งไปให้นางนม

ทั้งหลายชื่นชม ทั่วกันพร้อมวันทา


(ช่วงที่ 4) แต่ฉับพลัน นั้นพระกุมาร

เสด็จอุทธการ จากมือนางนมมา

ลงเหยียบยืนยังพื้นพสุธา

ด้วยพระยุคลบาทหนอพอดี

มหาพรหมทั้งสี่ก็พลัน

เศวตฉัตรทิพย์กางกั้นทันที

เทพทุกองค์ทรงแสนยินดี

เทิดบารมีพระมหากุมาร


พระกุมารหันหน้าไปทางทิศปราจีน

เห็นทั้งสิ้นเทพทั้งพันจักรวาล

มาสโมสร สันนิบาตเบิกบาน

ณ ลานเดียวกัน พร้อมบุปผามาลี

แล้วพร้อมเพรียงเรียงไหว้บูชา

ยกมวลบุปผาเหนือศีรษะอัญชลี

แล้วกล่าวคำนำน้อมวจี ล้วนสุนทรีย์ สดุดีมหากุมาร

บทบรรยาย

[edit]

บทบรรยาย : สมส่วน พรหมสว่าง

ผู้บรรยาย : สมส่วน พรหมสว่าง

ปริภัณฑ์ วัชรานนท์ (พากย์เป็น เจ้าชายสิทธัตถะ/ ท้าวสันดุสิตเทพบุตร)

ท้าวมหาพรหม : ข้าแต่พระมหาบุรุษ ในโลกนี้ จะหาผู้ใดที่ไหน ประเสริฐสุดเสมอด้วยพระองค์นั้นมิได้มีเลย

ผู้บรรยาย : พระมหาบุรุษทรงทอดพระเนตรไปรอบๆ ทั้ง 10 ทิศ ก็มิได้เห็นใครผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งจะมีบุญญาอานุภาพเสมอด้วยพระองค์ แล้วจึงทรงหันพระพักตร์ไปทางอุดรทิศ และย่างพระบาทไป 7 ก้าว บนพื้นแผ่นทองอันท้าวจตุโลกบาลถือรองรับ แล้วทรงหยุดยืนบนทิพย์ปทุมบุปผชาติอันวิลาสตระการเบ่งบานดอกใหญ่ นับได้ 100 กลีบ แล้วทรงบันลือสีหนาท เปล่งพระสุรเสียงอันไพเราะกังวานดุจเสียงท้าวมหาพรหม ดำรัสอาสภิวาจาว่า

พระมหาบุรุษ : เรานี้เป็นผู้ที่เจริญ เป็นผู้ประเสริฐเลิศยิ่งในโลก จะหาผู้ใดมาประเสริฐเลิศเลอเสมอมิได้ และชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา ซึ่งเราจะไปบังเกิดในภพชาติใหม่นั้นไม่มีอีกแล้ว[1]

ความหมาย และเนื้อหาของเพลง

[edit]

พระนางสิริมหามายาเทวี ทรงบำรุงพระโพธิสัตว์ในพระครรภ์ ตลอด 10 เดือน เมื่อมีพระครรภ์แก่เต็มที่แล้ว มีพระราชประสงค์จะเสด็จไปยังเรือนแห่งพระญาติที่เทวทหนคร พระนางได้กราบทูลพระเจ้าสุทโธทนะ เมื่อพระองค์ทรงอนุญาตแล้ว จึงมีรับสั่งให้ทำหนทางจากนครกบิลพัสดุ์จนถึงนครเทวทหะให้ราบเรียบ ให้ตกแต่งประดับประดาด้วยต้นกล้วย หม้อน้ำเต็ม และธงชาย ธงผ้า เป็นต้น ให้พระเทวีประทับนั่งในศรีวิกา พระวอทอง ให้อำมาตย์พันคนหาม ทรงส่งพระนางไปด้วยข้าราชบริพารกลุ่มใหญ่

ระหว่างทางที่พระนางเสด็จสู่นครเทวทหะนั้น ได้ผ่านป่าไม้รังชื่อ ลุมพินี ในสมัยนั้น ต้นสาละ (รัง) ออกดอกบานสะพรั่ง พระนางสิริมหามายาทรงทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ทรงมีพระประสงค์จะแวะชมสวน จึงเสด็จไปยังโคนต้นสาละอันเป็นมงคล เมื่อพระนางมีพระประสงค์จะทรงจับกิ่งใดกิ่งนั้นก็น้อมลงมาเองจนถึงฝ่าพระหัตถ์

ขณะที่พระนางประทับยืนจับกิ่งสาละนั้น ลมกัมมัชวาตของพระนางก็เกิดปั่นป่วน ลำดับนั้น เหล่าพนักงานจึงกั้นพระวิสูตรแก่พระนางแล้วหลีกไป พระนางเมื่อประทับยืนจับกิ่งสาละอยู่นั้น พระโพธิสัตว์ก็ประสูติจากพระครรภ์ของพระนาง

ในขณะนั้นเอง ท้าวมหาพรหมทั้ง 4 พระองค์ ก็ถือตาข่ายทองมารองรับพระโพธิสัตว์วางไว้เบื้อง พระพักตร์พระชนนี และสายธารแห่งน้ำทั้งสองสายก็พุ่งออกมาจากอากาศ โสรจสรงพระสรีระของพระโพธิสัตว์และพระนางสิริมหามายา เพื่อเป็นการสักการะแด่พระโพธิสัตว์และพระชนนี[2]

ลำดับนั้น ท้าวมหาพรหมได้ทูลแด่พระโพธิสัตว์ว่า "ข้าแต่พระมหาบุรุษในโลกนี้ จะหาผู้ใดที่ไหน ประเสริฐสุดเสมอด้วยพระองค์นั้นไม่มีเลย" แล้วพระมหาบุรุษทรงทอดพระเนตรไปรอบๆ ทั้ง 10 ทิศ ก็มิได้เห็นผู้ใดที่มีบุญญาอานุภาพเสมอด้วยพระองค์ แล้วจึงทรงหันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ และย่างพระบาทไป 7 ก้าว บนพื้นแผ่นทองอันท้าวจตุโลกบาลถือรองรับ แล้วทรงหยุดยืนบนดอกไม้ทิพย์ที่สวยงาม เบ่งบานนับได้ดอกละ 100 กลีบ แล้วทรงเปล่งพระสุรเสียงอันไพเราะกังวานดุจเสียงท้าวมหาพรหม ดำรัสอาสภิวาจาว่า "เรานี้เป็นผู้ที่เจริญ เป็นผู้ประเสริฐเลิศยิ่งในโลก จะหาผู้ใดมาประเสริฐเลิศเลอเสมอเรามิได้ และชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา อันชาติภพใหม่ของเรานั้นไม่มีอีกแล้ว"

เกร็ดความรู้ในเพลง

[edit]

อาสภิวาจา คืออะไร

[edit]

อาสภิวาจา แปลว่า วาจาที่องอาจ วาจาที่กล่าวด้วยความกล้าหาญ คำพูดที่ยิ่งใหญ่

อาสภิวาจา ในคำวัดใช้หมายถึงคำประกาศของพระพุทธเจ้าตอนประสูติจากพระครรภ์ หมายถึง เมื่อพระองค์ประสูติแล้วทรงยืนได้ด้วยพระบาททั้งสอง ทรงผินพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ ย่างพระบาทไปได้ 7 ก้าว แล้วทรงเปล่งอาสภิวาจาว่า

"อัคโคหมัสมิ โลเก เชฏโฐหมัสมิ โลเก เสฏโฐหมัสมิ โลเก"

แปลว่า เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นผู้ใหญ่แห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐสุดแห่งโลก

ซึ่งคำว่า อาสภิวาจา ใช้กับพระอริยสาวก เช่น พระสารีบุตร พระอนุรุทธะ ก็ได้[3][4][5]

คำศัพท์ควรรู้

[edit]
  • กัมมัชวาต (อ่านว่า กำ-มัด-ชะ-วาด) หมายถึง ลมเกิดแต่กรรม ซึ่งก็คือ ลมเบ่งเมื่อจวนจะคลอด (อาจจะเขียนว่า กรรมชวาต ก็ได้)[6]
  • วิสาขปุรณมี หมายถึง วันเพ็ญเดือน 6

อ้างอิง

[edit]