กาวเหลิ่ว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กาวเหลิ่ว
กาวเหลิ่วในชาม
ประเภทก๋วยเตี๋ยว
แหล่งกำเนิด เวียดนาม
ภูมิภาคฮอยอัน
ส่วนผสมหลักเส้นก๋วยเตี๋ยว เนื้อหมู และผัก

กาวเหลิ่ว (เวียดนาม: cao lầu) เป็นอาหารท้องถิ่นประจำนครฮอยอัน จังหวัดกว๋างนาม ประเทศเวียดนาม ซึ่งประกอบด้วยเส้นก๋วยเตี๋ยว เนื้อหมู และผัก เส้นก๋วยเตี๋ยวที่ใช้ทำกาวเหลิ่วจะทำจากข้าวที่แช่ในน้ำด่างซึ่งจะทำให้ได้เนื้อสัมผัสและสีที่แตกต่างจากก๋วยเตี๋ยวแบบอื่น ๆ ในประเทศเวียดนาม แม้กระทั่งหมี่กว๋างซึ่งมาจากพื้นที่เดียวกัน[1]

ส่วนผสม[แก้]

ส่วนผสมหลักในกาวเหลิ่วได้แก่เส้นก๋วยเตี๋ยว เนื้อสัตว์ ผัก ถั่วงอก และสมุนไพรต่าง ๆ และราดน้ำซุปพอขลุกขลิก เนื้อสัตว์ที่ใช้โดยทั่วไปจะเป็นเนื้อหมู ซึ่งอาจจะเป็นเนื้อหมูที่ปรุงสุกแล้วฉีกให้เป็นเส้นหรือหมูแดงที่ซอยเป็นชิ้นบาง แต่บางครั้งก็ใช้กุ้งแทนได้[1][2][3] เนื้อหมูที่ใช้ทำกาวเหลิ่วจะนำไปหมักกับผงเครื่องเทศห้าชนิด (โดยทั่วไปได้แก่โป๊ยกั้ก กานพลู อบเชยจีน ฮฺวาเจียว และยี่หร่าฝรั่ง[4]) น้ำตาล เกลือ พริกไทยดำ กระเทียมบด และซีอิ๊วเพื่อให้ได้รสชาติคล้ายหมูแดง ส่วนกระดูกหมูจะนำไปต้มเป็นน้ำซุปรวมกับหอมใหญ่หรือหอมแดง[1][3][5]

เส้นก๋วยเตี๋ยวที่ใช้ทำกาวเหลิ่วทำจากข้าวแช่ในน้ำด่าง ซึ่งจะทำให้เส้นก๋วยเตี๋ยวที่ได้เหนียวและเด้งกว่าเส้นก๋วยเตี๋ยวทั่วไป และมีสีน้ำตาลอมเทาหรือออกเหลืองแทนที่จะเป็นสีขาว ตำนานพื้นบ้านกล่าวว่าน้ำด่างที่ใช้ต้องทำจากขี้เถ้าของพืชบางชนิดที่ขึ้นบนหมู่เกาะจ่ามที่อยู่ใกล้เคียง และน้ำที่ใช้แช่ข้าวและต้มเส้นก๋วยเตี๋ยวต้องมาจากบ่อบ๊าเหล (Bá Lễ) ซึ่งเป็นบ่อน้ำโบราณในฮอยอัน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ไม่ค่อยพบกาวเหลิ่วขายนอกเขตนครฮอยอัน[1][3][6] ข้าวที่แช่น้ำด่างแล้วจะนำไปทำเส้นก๋วยเตี๋ยวที่ยาวอย่างน้อย 10 เซนติเมตรและกว้างประมาณครึ่งเซนติเมตร แล้วจึงนำไปแช่น้ำต่อเป็นเวลาหลายชั่วโมง ล้าง และต้มให้ได้เนื้อสัมผัสตามต้องการ[3][5] เส้นก๋วยเตี๋ยวดิบบางส่วนก็จะซอยเป็นท่อนสั้น ๆ แล้วนำไปทอดให้กรอบเพื่อโรยหน้าก๋วยเตี๋ยว[3]

ผักที่นิยมใส่ในกาวเหลิ่วได้แก่ผักกาดหอม ถั่วงอก และสมุนไพรสดหลายชนิดเช่นมินต์ กุยช่าย เซาเตี๊ยโต ใบแมงลัก ผักแพว ผักชี และเซาฮุ้งหลูย เป็นต้น[1][3][5]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 Le, Helen (2017). Simply Pho: A Complete Course in Preparing Authentic Vietnamese Meals at Home. Race Point Publishing. pp. 130–131. ISBN 9780760359549. สืบค้นเมื่อ 2 April 2019.
  2. Morgan, Jorj; Fazio, Susan. Canvas and Cuisine: The Art of the Fresh Market. Dorrance Publishing. p. 47. ISBN 9781480991248. สืบค้นเมื่อ 2 April 2019.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 Diệu, Hiền (13 March 2015). "Cao lầu Hội An đặc biệt thế nào?". Thanh Niên. สืบค้นเมื่อ 2 April 2019. (ในภาษาเวียดนาม)
  4. Chinese Five Spice เก็บถาวร 2020-06-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน at The Epicentre
  5. 5.0 5.1 5.2 noodlepie: Cao lau เก็บถาวร กันยายน 28, 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  6. Di, Vỹ (19 September 2017). "Quán ăn mang tên giếng cổ hút khách hơn 20 năm tại Hội An". VNExpress. สืบค้นเมื่อ 2 April 2019. (ในภาษาเวียดนาม)