Jump to content

User talk:Somkiatonwimon

Page contents not supported in other languages.
From Wikipedia, the free encyclopedia

บันทึกอาเซียน | ASEAN Diary

“อาเซียน กับ การเลือกตั้งในพม่า”

หลังการเลือกตั้งในพม่า เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2553/2010 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 20 ปี ฯพณฯ ดร.ฟาม เกีย เคียม (H.E. Dr. Pham Gia Khiem) รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ออกคำแถลงในนามประธานอาเซียน เกี่ยวกับการเลือกตั้งในสาธารณรัฐสหภาพพม่าว่า

“อาเซียนยินดีต่อการเลือกตั้งที่จัดขึ้นในพม่า ซึ่งถือว่าเป็นก้าวหนึ่งที่จะนำไปสู่แผนการปฏิบัติงาน 7 ข้อสู่ประชาธิปไตยในพม่า และอาเซียนต้องการสนับสนุนส่งเสริมให้พม่าเร่งกระบวนการปรองดองในชาติ ตลอดจนการสร้างประชาธิปไตยในประเทศต่อไป เพื่อความมั่นคงและการพัฒนาพม่า และอาเซียนเห็นว่ามีความจำเป็นที่พม่าจะต้องร่วมมือกับอาเซียน และ องค์การสหประชาชาติต่อไปในการสร้างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยในพม่าด้วย”

ก่อนหน้านั้น ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียนก็ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนในเรื่องเดียวกันว่า

“หวังว่าผลการเลือกตั้งในพม่าจะทำให้พม่ามีความมั่นใจมากขึ้นในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับนานาประเทศในโลก และนอกจากนั้นพม่าก็จะได้รับประโยชน์ในการร่วมสร้างประชาคมอาเซียนร่วมกันภายในปี 2015”

วิจารณ์โดยภาพรวมก็เห็นว่าอาเซียนใช้ความระมัดระวังอย่างมากในการออกความเห็นเป็นทางการในเรื่องการเมืองภายในของพม่า ซึ่งถือเป็นแนวปฏิบัติตามกฎบัตรอาเซียนที่ให้รัฐสมาชิกไม่แทรกแซงในกิจการภายในของรัฐสมาชิกด้วยกัน ตามหลักการที่บัญญัติไว้ดังนี้:

“ข้อ 2 หลักการ

1. ในการดําเนนิ การเพื่อให้บรรลุความมุ่งประสงค์ตามข้อ 1 อาเซียนและรัฐสมาชิกอาเซียนยืนยันและยึดมั่นในหลักการพื้นฐานที่ปรากฏในปฏิญญา ความตกลง อนุสัญญา ข้อตกลง สนธิสัญญา และตราสารอื่นๆ ของอาเซียน

2. ให้อาเซียนและรัฐสมาชิกอาเซียนปฏิบัติตามหลักการดังต่อไปนี้

(ก) การเคารพเอกราช อธิปไตย ความเสมอภาค บูรณภาพแห่งดินแดน และอัตลักษณ์แห่งชาติของรัฐสมาชิกอาเซียนทั้งปวง

(ข) ความผูกพันและความรับผิดชอบร่วมกันในการเพิ่มพูนสันติภาพ ความมั่นคงและความ มั่งคั่งของภูมิภาค

(ค) การไม่ใช้การรุกราน และการข่มขู่ว่าจะใช้หรือการใชกำลังหรือการกระทําอื่นใดในลักษณะที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ

(ง) การอาศัยการระงับข้อพิพาทโดยสันติ

(จ) การไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐสมาชิกอาเ ซียน

(ฉ) การเคารพสิทธิของรัฐสมาชิกทุกรัฐในการธํารงประชาชาติของตนโดยปราศจากการแทรกแซง การบ่อนทําลาย และการบังคับ จากภายนอก”

อ่านกฏบัตรหมวดที่ 1 ข้อ 2.2 (ก) (จ) (ฉ) จะเป็นส่วนที่ตรงประเด็นในเรื่องการกำกับบทบาทการให้ความเห็นเป็นทางการของอาเซียนมากที่สุด ดังนั้นคำแถลงจากเวียดนาม ในฐานะประธานอาเซียน จึงออกมาในทำนองสร้างสรรค์ และให้ความหวังต่อพม่า ส่วนคำตอบต่อสื่อมวลชนของเลขาธิการอาเซียน ก็ออกมาในทำนองให้กำลังใจและเสริมความมั่นใจให้กับพม่าในการอยู่ร่วมประชาคมอาเซียนด้วยกัน

พม่าเป็นสมาชิกอาเซียนลำดับที่ 9 เข้าเป็นสมาชิกพร้อมกับลาว ในวันที่ 23 กรกฎาคม 1997 (เมื่อเข้าเป็นสมาชิกพร้อมในวันเดียวกัน นับตามลำดับอักษรชื่อประเทศ จึงต้องนับให้ลาวมาเป็นลำดับที่ 8 ก่อนพม่า) เป็นประเทศที่มักถูกวิจจารณ์โดยสื่อมวลชนและรัฐบาลชาติตะวันตก ตลอดจนชาวพม่าอพยพ และองค์กรรณรงค์ประชาธิปไตยภาคประชาสังคมต่างๆว่าเป็นรัฐเผด็จการ ไม่เป็นประชาธิปไตย และละเมิดสิทธิมนุษยชน ในการเลือกตั้งที่ผ่านมาสื่อมวลชนต่างประเทศก็ถุูกปิดกั้น ไม่ได้รับอนุญาติให้เข้าไปสังเกตุการณ์การเลือกตั้งด้วย แต่รายงานข่าวจากผู้ที่แอบเข้าไปทำข่าวก็พอได้ภาพรวมว่าการเลือกตั้งไม่มีเหตุการณ์รุนแรง ประชาชนมีส่วนร่วมน้อย และพรรคการเมืองฝ่ายค้านหลักก็ไม่เข้าร่วมการเลือกตั้งด้วย การเลือกตั้งในพม่าจึงถูกวิจารณ์ว่าเป็นการจัดตั้งฐานทางการเมืองของคณะทหารผู้ปกครองพม่าในปัจจุบันผ่านพรรค Union Solidarity and Development Party - USDP ที่ฝ่ายทหารสนับสนุน ซึ่งผลการเลือกตั้งก็ออกมาตามที่วิจารณ์กัน อย่างไรก็ตาม 6 วันหลังการเลือกตั้ง รัฐบาลพม่าก็ปล่อยตัวนางอองซานซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน (National League for Democracy / สันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย) ของพม่าที่ถูกกักบริเวณให้อยู่ในบ้านมานานหลายปี ก็ทำให้พอเห็นว่าการเมืองในพม่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

อาเซียนมีรัฐสมาชิกอื่นอีก 3 ประเทศที่ยังไม่มีระบอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยตามนิยามของปรัชญาการเมืองตะวันตก คือบรูไน (ปกครองระบอบกษัตริย์), ลาว และ เวียดนาม (ปกครองแบบสังคมนิยมโดยพรรคคอมมูนิสต์พรรคเดียว) แต่ประเทศทั้งสามนี้ก็ไม่ถูกวิพากษ์โดยสื่อมวลชนนานาชาติเช่นที่วิจารณ์พม่า ความเห็นของอาเซียนว่าการเลือกตั้งในพม่าที่ผ่านมา “เป็นก้าวไปข้างหน้า” ของพม่าสู่ประชาธิปไตย จึงเป็นความเห็นมาตรฐานเชิงสร้างสรรค์ที่กลายเป็นกรอบประเพณีของการปฏิบัติต่อกันในอาเซียน ที่ทำให้อาเซียนอยู่ร่วมประชาคมเดียวกันได้ท่ามกลางความแตกต่างทางระบบการเมืองการปกครอง หรือความแตกต่างด้านอื่น

สมเกียรติ อ่อนวิมล

17 พฤศจิกายน 2553

Start a discussion with Somkiatonwimon

Start a discussion